TKP Start UP

ประวัติหน่วยงาน

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยพวน

 

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยพวน


    พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียมตั้งอยู่บริเวณวัดโคกกะเทียมโดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ตามแผนพัฒนาจังหวัดลพบุรี โครงการยกระดับพัฒนากิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรีโดยมีวัตถุประสงค์คือ

    1.เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัตถุสิ่งของที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ตามวิถีชีวิตชาวพวน

    2.เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมซึ่งแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านโคกะเทียมแก่เยาวชนประชาชนทั้งในและนอกชุมชนโคกกะเทียม

    3.เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานสภาวัฒนธรรมตำบลโคกกะเทียม

    ลักษณะภายในพิพิธภัณฑ์เป็นการจัดแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวไทยพวนบ้านโคกกะเทียมซึ่งแสดงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ การทำมาหากิน อาชีพ ลักษณะการแต่งกายและเครื่องใช้ต่างๆซึ่งมามาจัดแสดงเช่นในส่วนของ กวงเฮือนหรือห้องนอน ในส่วนของกวงครัวหรือห้องครัวและชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวไทยพวนตำบลโคกกะเทียมนำมาบริจาคทั้งสิ้นที่นำมาแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวไทยพวนลักษณะภายในพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่จัดแสดง ได้แก่ บริเวณกลางอาคารเป็นบริเวณจัดแสดงป้ายนิทรรศการสามารถเคลื่อนที่ได้ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวความเป็นมาของชาวไทยพวน ชาวไทยพวนโคกกะเทียม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งยึดหน่วยจิตใจของชาวบ้าน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อสมศรีที่สร้างแบบศาลเจ้าจีน ภาษา และประเพณีสำคัญ เช่น กำฟ้า สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญแต่งงาน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติแล้ว สำหรับการแต่งกาย เป็นการจัดแสดงด้วยหุ่นสำเร็จรูปใส่ชุดดั้งเดิมทั้งชายและหญิง “การแต่งกายของหญิงพวน จะนุ่งซิ่นและสวมเสื้อคล้ายกับเสื้อสายเดี่ยวที่เรียกว่า ‘เสื้อมะกะแหล่ง’ แตกต่างจากเสื้อคอกระเช้า นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่จากบ้านหมี่ และของโคกกะเทียม แต่ปัจจุบัน ไม่มีคนทอแล้วยกตัวอย่างเครื่องแต่งกาย ผู้หญิงชาวไทยพวน ใส่เสื้ออยู่กับบ้านเป็นเสื้อจีบรอบอกแบบคอกระเช้า เวลาไปวัดจะห่มสไบเฉียง หญิงสาวที่ไม่แต่งงานจะนุ่งผ้าซิ่นทอมัดหมี่มีชายต่อตีนซิ่น ถ้าแต่งงานแล้ว จะนุ่งซิ่นไม่มีชายซิ่น มีเสื้อคอกลมแขนกระบอกใส่เป็นเสื้อนอกเวลาไปงานทำบุญและงานพิธี ผู้ชายชาวไทยพวน จะนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อม่อห้อม ผ้าขาวม้าเคียนเอว สมัยโบราณนุ่งผ้าโจงกระเบน ถ้าไปงานพิธีหรืองานมงคลจะใส่เสื้อสีขาว เวลาไปทำไร่ทำนาจะนุ่งชุดสีดำหรือสีน้ำตาล ที่ย้อมด้วยลูกมะเกลือ จากพื้นที่ส่วนกลาง ทางขวามือเมื่อผู้ชมหันหน้าเข้าสู่บอร์ด เป็นบริเวณที่มีการยกพื้นให้เห็นเป็นครัวไฟจำลอง และจัดแสดงใกล้กับเครื่องมือทำมาหากิน ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับทำนา เครื่องมือในการทำประมง สำหรับครัวไฟจำลองบริเวณนี้เรียกว่า กวงครัว มีการประกอบพิธี “ขึ้นแม่เตาไฟ” ก่อนการตั้งเตาไฟ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้ประกอบพิธี กล่าวถึงเอกลักษณ์อาหารของชาวไทยพวนคือ“หมกหนอไม้และแหนบสาลี” เป็นอาหารที่นำไปสาธิตอยู่บ่อยครั้งในงานมหกรรมชาติพันธุ์” จากพื้นที่ส่วนกลางที่แสดงป้ายนิทรรศการ-เครื่องแต่งกาย และครัวจำลอง มาสู่ส่วนสุดท้ายของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ มุมหนึ่งจัดทำเป็นชานเรือนที่มีการตั้งโต๊ะขนาดเล็กและจัดเชี่ยนหมากไว้ตรงกลาง และห้องหับที่กันไว้เป็นสัดส่วน “ห้องสำคัญนี้สำหรับการอยู่อาศัยของลูกสาวและสถานที่สำหรับเก็บสมบัติสำคัญของตระกูล และเรียกในภาษาพวนว่า “กวงเฮือน” ภายในจะจัดตู้พระธรรมที่มีหนังสือโบราณ โดยไม่มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ส่วนที่นอนปกติแล้วเป็นการนอนกับพื้น แต่ที่นำเสนอนี้เป็นเบาะบาง ๆ ที่มีผ้าปู และมีโต๊ะเครื่องแป้งเป็นคันฉ่องเล็ก ๆ” ในช่วงท้าย มีความพยายามในการพัฒนามัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ และเป็นโอกาสนให้นักเรียนสามารถหารายได้ นอกเหนือจากกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ชุดการแสดงให้เป็นเอกลักษณ์ เช่น รำฟ้อนพวนเชียงขวาง และความพยายามในการฟื้นฟู “หมอลำพวน”เป็นศิลปะวรรณคดีพื้นบ้านที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวพวนแต่บรรพกาลเป็นการขับร้องที่มีแคนเป็นดนตรีประกอบตามท่วงทำนองและลีลาทางภาษาพวน มีท่วงทำนองเพลงคร่ำครวญ ออดอ้อน นุ่มนวล และอ่อนหวาน ร้องโต้ตอบระหว่างชาย - หญิง การลำจะเริ่มขึ้นพร้อมๆกันทั้งคนลำและเสียงแคนคนลำไม่แสดงท่าทางประกอบเพราะทำนองพวนไม่กระชับหรือเร่งเร้าเหมือนหมอลำอีสาน แต่คงมีเฉพาะสมาชิกผู้อาวุโสเท่านั้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมีโอกาสแสดงนาฏศิลป์เหล่านี้ในงานของจังหวัด เช่น งานวังนารายณ์ เป็นต้น



ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยพวนทุกแห่งได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า "ประเพณีกำฟ้า" มีความหมายดังนี้

คำว่า "กำ" ในภาษาพวน หมายถึง การนับถือสักการะ

คำว่า "ฟ้า" หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน หรือผู้ที่อยู่สูงเทียมฟ้า คือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจมองเห็นได้

คำว่า "กำฟ้า" หมายถึงการนับถือฟ้า สักการบูชาฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวนโดยเชื่อกันว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากเทวดาผู้รักษาฝากฟ้า แล้วเทวดาจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า เพราะชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวว่าฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือฟ้าจะผ่าคนตาย เพื่อผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ ยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตของคน สัตว์และพืชต่างๆ จึงเกิดเป็นประเพณีกำฟ้าขึ้น แต่เดิมวันกำฟ้าถือกำหนดเอาวันที่มีผู้ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 เป็นวันเริ่มประเพณีกำฟ้า เพราะถือกันว่าเป็นวันที่ฟ้าเปิดประตูน้ำ แต่การยึดถือในวันดังกล่าว มักมีข้อผิดพลาดเกิดการโต้แย้ง กัน เนื่องจากบางคนไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ต่อมาได้กำหนดเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันเตรียมงาน วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า สัตว์เลี้ยงที่เคยใช้งานก็จะให้หยุดการทำงาน ในวันนี้ถ้าใครทำงานชาวไทยพวนเชื่อว่าจะเกิดพิบัติต่างๆ ฟ้าจะลงโทษโดยถูกฟ้าผ่า ห้ามไม่ให้พูดคำหยาบคาย ในช่วงเวลากำฟ้าผู้สูงอายุในครอบครัวจะคอยฟังฟ้าร้อง เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน โดยมีคำทำนาย ดังนี้

เสียงฟ้าร้อง หมายถึง การเปิดประตูน้ำฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะตกดี ทำนาจะได้ข้าวดี ฟ้าร้องทางทิศใต้ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาวบ้านจะอดเกลือ ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย เกิดความแห้งแล้ง ทำนาไม่ค่อยได้ผล นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะเดือดร้อนเกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟันกันฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขไม่มีรบร่าฆ่าฟันกัน ไม่มีโจรผู้ร้าย ในคืนที่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ก่อนที่จะเข้านอน เจ้าของบ้านจะร้องบอกแก่สัตว์เลี้ยงของตนให้รู้ตัวและสงบเสงี่ยมว่า "งัว (วัว) ควายเอ้ย กำฟ้าเน้ออย่าได้อึกทึกครึกโครม แต่บัดนี้ไปจนฮุ่ง (รุ่ง-สว่าง) ตะเง็น (ตะวัน- พระอาทิตย์) จึงม้น (พ้น) เน้อ"



ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน ตามประเพณีนั้นในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 สมาชิกในครัวเรือนจะช่วยกันทำ ข้าวหลาม (ข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ เรียกว่า ข้าวหลามทิพย์) ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นยัดไส้หวาน ไส้เค็ม ชุบไข่ แล้วปิ้งไฟจนแห้งเกรียม) เพื่อนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้า จะมีการสร้างปะรำสำหรับทำพิธีที่วัด ในตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เย็น ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะประกอบพิธีบายศรีอัญเชิญเทพยดา (ผีฟ้า) มารับเครื่องสังเวย และมีการรำขอพร จากนั้นจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟ กล่าวคำ ขอให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน มาปกปักรักษา ในครอบครัวให้อยู่ดีกินดี มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ รุ่งขึ้นวันกำฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า ตอนลางคืนจะมีการละเล่นเซิ้ง ลำพวน ซึ่งถือเป็นกรทรงเจ้าเข้าผีด้วย หลังจากวันกำฟ้า 1 สัปดาห์ จะไปทำบุญที่วัดอีกครั้ง หลังจากนั้นจะนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้นไปทิ้งตามแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปตามสายน้ำ เรียกว่า "การเสียแล้ง" เป็นการบูชารำลึก เทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยาดา (ผีฟ้า) ว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว

วัดเขาสมโภชน์ ชัยบาดาล


วัดเขาสมโภชน์

    วัดเขาสมโภชน์ จัดตั้งเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ 2480 เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและแหล่งเรียนรู้ ทั้งทางด้านศาสนารวมถึงการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยอันดีงาม เป็นแหล่งศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธ ให้การปลูกฝังคุณธรรม-จริยธรรม มีธรรมชาติที่หลากหลาย เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ รอบๆ บริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาชนิด อีกทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูการ มีแหล่งน้ำ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ท่านเจ้าอาวาสและบุบาสก อุบาสิกาบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอยู่เสมอทำให้วัดเขาสมโภชน์ เป็นวัดที่ สวยงาม ร่มรื่น เหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ที่บ้านเตาขนมจีน หมู่ที่ 5 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีที่ดิน 200 ไร่ บริเวณที่ตั้งมีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน เต็มไปด้วยถ้ำต่างๆ ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 19 ถ้ำ ดังนี้ ถ้ำใหญ่ ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเพชร ถ้ำรำวง ถ้ำสิงโต ถ้ำบ่อทิพย์ ฯลฯ ภายในแต่ละถ้ำจะแลเห็นหินงอกหินย้อยที่สวยงาม เมื่อ พ.ศ. 2516 หลวงพ่อคง จตฺตมโล ได้ธุดงค์จาริกมาเพื่อการปฏิบัติธรรมโดยอาศัยอยู่ในถ้ำพระอรหันต์ ตามนิมิต ซึ่งในขณะนั้น ชาวบ้านเรียกกันว่า สำนักสงฆ์ถ้ำเขาสมโภชน์ ต่อมาวันที่ 23 กันยายน พ.ศ 2525 ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศให้เป็นวัดเขาสมโภชน์ โดยมีหลวงพ่อคง จตฺตมโล เป็นพระวิปัสสนาจารย์ และประธานสงฆ์ มีพระครูภาวนาวิสุทธิ (ผิว วณณฺคุตโต) ดำรงค์ตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาส ที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดสำหรับปฏิบัติธรรม ปัจจุบัน มีพระภาวนาสมณคุณ วิ (พระมหาทอง ฐานคุโณ, ป.ธ.9) เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาสมโภชน์ และดำรงตำแหน่ง รองเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี

    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา วัดเขาสมโภชน์ได้จัดตั้งศูนย์พักคอย เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลรักษาเบื้องต้น ให้กับประชาชนตำบลบัวชุม และพื้นที่ใกล้เคียง

รำโทนบ้านบัวชุม

รำโทนบ้านบัวชุม

การละเล่นรำโทนของบ้านบัวชุม นั้นสืบทอดกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมให้มีการละเล่นรำโทนเพื่อให้เป็นศิลปะวัฒนธรรมประจำชาติ จึงนิยมเล่นกันอย่างกว้างขวาง การเรียกชื่อการรำชนิดนี้มาจากเครื่องดนตรีที่ใช้ให้เป็นจังหวะคือโทน นอกจากนี้ยังมีผู้แต่งเพลงขึ้นมาใช้ร้องประกอบการรำโทนแล้วนำมาร้องต่อ ๆ กันไปในท้องถิ่นต่าง ๆ อีกมากมายหลายเพลง คำร้องและทำนองจึงมีความผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป จุดเด่นลักษณะของโทน หุ่นของโทนที่ชาวบ้านบัวชุมใช้ทำด้วยดินเผามีรูปร่างคล้ายกับกลองยาวแต่สั้นกว่า ขึงด้วยหนังตัวเงินตัวทองหรือหนังงูเหลือม มีการเอาเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ มาใช้ตีประกอบเป็นจังหวะ เพื่อเพิ่มความครื้นเครง เช่น ฉิ่ง ฉาบ และกรับ ปัจจุบัน นายยวย จันท์เต็มดวง เป็นประธานกลุ่มรำโทนบ้านบัวชุม มีการจัดแสดงตามงานบุญและพิธีต่างๆ เป็นการแสดงหลักที่ไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือนตำบลบัวชุม อีกทั้งส่งเสริมการรำโทนเข้าไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม

 ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม

    ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม สืบทอดตามความเชื่อของคนโบราณ เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านบัวชุมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม คงความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ สร้างความปรองดองให้กับชุมชน ชาวบ้านบัวชุมจะก่อเจดีย์ข้าวเปลือกหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อทำบุญตามคติในพระพุทธศาสนาเป็นพุทธบูชา และถือโอกาสทำบุญร่วมกัน เมื่อชาวบ้านทำนาเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวก่อนนำข้าวมาบริโภคหรือจำหน่าย จะมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" ที่เชื่อกันว่าทุกสิ่งมี "ขวัญ" มีความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพ ที่มีพระคุณต่อชีวิตของชาวนาสืบจากปู่ย่าตายายอันยาวนาน ชาวนาชุมชน การนำข้าวแรกเกี่ยวไปถวายพระหรือก่อพระเจดีย์เพื่อเป็นการทำบุญเป็นพุทธบูชาแทน และเป็นการปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็ได้ถือคติปฏิบัติเช่นนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะนำข้าวใหม่มาหุงบริโภคครั้งแรก แต่จะหุงไว้เป็นจำนวนมากกว่าปกติ ทั้งนี้ถือเป็นเคล็ดว่าจะได้เหลือกินเหลือใช้ ไม่อดอยากยากจนอีกต่อไป ในปีต่อไปของการทำไร่ทำนาก็จะได้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้าวใหม่ที่หุงนี้จะนำไปให้ผู้มีอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตลอดจนเผื่อแผ่ถึงลูกหลาน และส่วนหนึ่งนั้น ชาวบ้านก็จะมีการนำข้าวเปลือกมารวมกันที่วัดก่อเป็นเจดีย์ข้าวเปลือก เป็นการทำบุญทางพระพุทธศาสนาโดยตรงของชาวบ้านด้วยการนำข้าวเปลือก มาร่วมบริจาคเพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนา อีกทั้งสร้างนิสัยด้านการบริจาคและสืบทอดประเพณีอันดีงาม



วัดเขายายกะตา

 วัดเขายายกะตา

 ในช่วง ๑ – ๒ ปีมานี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนต่างไม่ได้ไปมาหาสู่กันตามปกติ เพราะต้องคอยเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด แต่การอยู่บ้านนานๆ ทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย แต่จะเดินทางไปไหนก็เกิดความกังวลใจ หากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆบ้าน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าในอำเภอชัยบาดาลยังมีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาตินอกจากสวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลืองแล้ว ยังมีอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ “เขายายกะตา”


เขายายกะตา เป็นสถานที่สำคัญของตำบลลำนารายณ์ ซึ่งหากกล่าวในมุมมองของนักท่องเที่ยวจัดว่าเป็นไฮไลต์ (Hi Light) เพราะเป็นยอดเขาที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปชมทิวทัศน์ รับอากาศบริสุทธิ์ และสำหรับชาวลำนารายณ์นั้น เขายายกะตา ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของชุมชน ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สถานที่แห่งนี้มีสภาพเป็นป่าทึบ มีบ้านเรือนตั้งอยู่สามหลัง และยังไม่มีวัดดังเช่นปัจจุบัน เมื่อมีเทศกาลงานบุญชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้จะต้องเดินทางไปทำบุญที่วัดท่ามะกอกแทน


ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีหลวงพ่อเจริญ กับหลวงพ่อดำรง มาจำวัดอยู่ที่วัดแห่งนี้ คุณป้าแป้น และหมวดป้อม ซึ่งเป็นคนใจบุญ ได้ถวายที่ดินจำนวน ๒๓ ไร่ และบ้านทรงไทยให้แก่วัด และได้ย้ายศาลาการเปรียญมาอยู่ด้านหน้าที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ต่อมากรมศาสนาจึงได้ยกฐานะได้วัดแห่งนี้เป็น “วัดเขายายกะตา” อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ สำหรับเขายายกะตา เป็นยอดเขาสูงมีบันไดทางขึ้นอยู่ในวัดเขายายกะตา เป็นภูเขาที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก บรรดาชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจะนิยมบนบานกับเขายายกตา หรือหากมีคนขึ้นไปบนยอดเขาโดยที่ไม่สอบถามผู้ที่มาอยู่ก่อนและส่งเสียงดังรบกวนก็จะมีก้อนหินกลิ้งลงมา หรือมีอาการชักหมดสติเสมอ

เขายายกะตามียังถ้ำลึกถึงระยะทางยาวเชื่อมต่อไปถึงแม่น้ำป่าสัก โดยมีเรื่องเล่าในอดีตว่า เมื่อครั้งที่ปากถ้ำยังเปิดจะพบสมบัติจำนวนมากมายอยู่ภายในถ้ำ ทั้งเพชรนิลจินดาและของมีค่าอย่างอื่น โดย “ยายตา” ซึ่งเป็นผู้ดูแลถ้ำหรือเจ้าหน้าที่จะเป็นคนใจดีอนุญาตให้ชาวบ้านได้หยิบยืมทรัพย์สมบัติหรือข้าวของเครื่องใช้ไปใช้งานได้ เมื่อใช้งานเสร็จก็นำมาคืนได้ แต่ต่อมาไม่นาน “ยายตา” ก็ได้ปิดปากถ้ำ เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของชาวบ้าน โดยเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน ชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงของปี่พาทย์และแสงไฟพุ่งขึ้นสู่ยอดภูเขา

สำหรับที่มาของชื่อ “เขายายกะตา” นั้น คุณพ่อของคุณตาระยับเล่าว่าเจ้าของภูเขานี้เป็นผู้หญิงชื่อ “ตา” ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “เขายายกะตา” โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ยายตาได้ไปเข้าฝันบุคคลสำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ขอให้สร้างรูปปั้นยายตาขึ้นที่วัด คุณพ่อของคุณตาระยับจึงได้เสนอความคิดว่าขอให้สร้างรูปปั้นของ “พรานแก้ว” ซึ่งเป็นชายคนสนิทของยายตาด้วย ทางสำนักพิมพ์บางกอกโพสต์จึงสร้างรูปปั้นพรานแก้วและยายตาขึ้นไว้คู่กันบนยอดเขา เมื่อยายตามีพรานแก้วเป็นเพื่อนแล้ว จึงตั้งชื่อเป็น “วัดเขายายกะตา” และ “เขายายกะตา” จนถึงทุกวันนี้

วัดเขายายกะตา ตั้งอยู่หมู่ ๒ ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ติดถนนสุร

นารายณ์ หมายเลข ๒๐๕ เมื่อเข้ามาภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่น มีเจดีย์สีทองซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำเข้ามาจากประเทศศรีลังกา และมีรอยพระพุทธบาทให้กราบไหว้

ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์

 ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์


มนุษย์เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสังคมย่อมต้องมีความสัมพันธ์ของกลุ่มที่มีระเบียบแบบแผน ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เครื่องมือที่ควบคุมพฤติกรรมของคนเราเรียกว่าวัฒนธรรมวัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายตกแต่งให้ดูน่าชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ควบคู่กับคน วัฒนธรรมหมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมการไหว้ วัฒนธรรมยังหมายถึงวิถีชีวิตของหมู่คณะที่แสดงออกทางพฤติกรรม ภาษา และกิจกรรมของสังคม “วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมการกิน”

เดิมตำบลลำนารายณ์เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ประชาชนอพยพมาจากนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อมาบุกเบิกทำมาหากิน ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกการปกครองออกจากตำบลบัวชุมมาเป็นตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ตำบลลำนารายณ์มีประชากรที่มีความหลากหลายทางเชื้อสายและวัฒนธรรม เช่น ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ ชาวมุสลิม เป็นต้น จึงมีความหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกัน จึงขอยกตัวอย่างวัฒนธรรมประเพณีที่เด่น ๆ ของตำบลลำนารายณ์ คือประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์

ประวัติศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ บริเวณศาลเจ้ามีสภาพเป็นป่ามีต้นไม้ขึ้นมากมายและเป็นป่าทึบ มีเพียงถนนตัดผ่านไปทางแม่น้ำป่าสัก เป็นถนนเส้นทางเดียวที่ประชาชนในละแวกนี้ใช้สัญจรจากหมู่บ้านไปตลาดลำนารายณ์การสัญจรในเส้นทางในสันนิษฐานว่าได้ตัดผ่านด้านหลังศาลเจ้าผ่านไปออกซอยร้านเจริญการค้าไปตลาดนายเฉื่อย(ตลาดศรีเจริญในปัจจุบัน) จากการเดินทางสัญจรในเส้นทางนี้พบว่ามีต้นตะคองอยู่ด้านหลังศาลเจ้า ซึ่งใต้ต้นตะคองมีไม้ลักษณะคล้ายองค์เทพเทวดา ทำให้ประชาชนที่สัญจรเหล่านั้นมากราบไหว้ขอพรก็เป็นผลสำเร็จ จากแรงศรัทธาและความเลื่อมใส่ต่อองค์เทพเทวดา ทำให้มีการสร้างศาลชั่วคราวที่ทำด้วยไม้และสังกะสี ซึ่งประชาชนขาวตลาดลำนารายณ์ก็ได้นำสิ่งของมากราบไหว้สักการะอย่างต่อเนื่อง และคล้องพวงมาลัยที่ใต้ตะคองเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการประชุมในระดับผู้นำชุมชน ประกอบไปด้วย คุณสีชัง ชูชัยทิพย์ คุณสุพจน์ นามประเสริฐสิทธิ และคุณกัญชัย จึงได้ดำเนินการก่อสร้างศาลขึ้นมาใหม่ และอัญเชิญองค์เทพเทวดาจากศาลชั่วคราวเข้าสู่ประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เดือนแปดของคนจีนได้มีการตั้งชื่อศาลนี้อย่างเป็นทางการว่า “ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์” เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนชาวลำนารายณ์ โดยให้มีคณะกรรมการเถ่านั๊งจำนวน ๖ ท่านขึ้นมาดูแล

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ชาวตลาดลำนารายณ์ได้ดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้งและให้คณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมกิจการของศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ โดยจัดให้มีการแสดงงิ้ว ปีละ ๒ ครั้ง คือซิ่วโหวง เดือนหนึ่งและเดือนแปดของคนจีน โดยจัดให้มีการแสดงครั้งละ ๖ คืนและให้งานซิ่วโหวงของจีนเป็นการแห่ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ไปรอบตลาดเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ท้องถิ่นแห่งนี้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้มีการยกร่างกฎระเบียบของศาลเจ้าขึ้นโดยให้มีคณะกรรมการของศาลเจ้าเป็นฝ่ายบริหารศาลเจ้าในแต่ละปีจะมีการแห่องค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ ๒ วัน โดยในวันแรกช่วงกลางคืนจะเป็นการแห่โคมมงคลด้วยระบบแสง สี เสียง และมีการแห่มังกรทอง สิงโต เอ็งกอ ณ บริเวณสี่แยกสัญญาณไฟแดงและวันที่ ๒ จะมีการอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ออกแห่ไปรอบตลาดลำนารายณ์ โดยมีขบวนธงทิว สุภาพสตรีถือแห่ ชุดรำองค์เจ้าแม่กวนอิม ล้อโก๊ว จนถือได้ว่าเป็นงานที่ชาวตลาดลำนารายณ์ได้ร่วมกันจัดขึ้น ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อองค์เจ้าพ่อเจ้าของชาวตลาดลำนารายณ์ทุกคน

ประเพณีหล่อเทียนพรรษา

 

แห่เทียนพรรษา



ประเพณีเนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "แห่เทียนพรรษา" ของชุมชน

การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็น พุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใดแต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณนาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษา การถวายเทียนพรรษาโดยตกแต่งหรือแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆนั้น มีมาแต่โบราณ เดิมเป็นประเพณีราชสำนักดังที่ปรากฏในเทียนรุ่งเทียนหลวงตามพระอารามต่างๆ ในอดีตการหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสือแล้ว พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น

งานแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธที่ได้กระทำมาแต่ครั้งพุทธกาล เหตุที่ทำให้เกิดประเพณีเพราะสมัยก่อน มีภิกษุได้เดินไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านทำให้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้ภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน คือในช่วงวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 10 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านพอดีในช่วงเข้าพรรษานี้ประชาชนจะนำเทียนไปถวายพระภิกษุเพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเฉลียวฉลาดมีไหวพริบปฏิภาณประดุจขี้ผึ้งที่ใช้ทำเทียนที่จากรังผึ้ง สำหรับการแห่เทียนพรรษาของชุมชนตำบลชัยนารายณ์นั้น ถือว่าเป็นประเพณีทางศาสนา ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนาวัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการแสดงออกถึงการยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคีของคนในชุมชน งานแห่เทียนพรรษาเป็นงานที่ทำให้ชุมชน วัยรุ่น หนุ่มสาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม อย่างใกล้ชิด จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวซึ่งคาดหวังได้ว่าประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสืบทอดต่อไปอีกยาวนานนั้น ชุมชนให้ความสำคัญในการ ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงานของท้องถิ่น

ประเพณีทำบุญเลี้ยงเจ้าพ่อสนั่น/ทำบุญกลางบ้าน

 

ประเพณีทำบุญเลี้ยงเจ้าพ่อสนั่น/ทำบุญกลางบ้าน



    ชาวบ้านถลุงเหล็กจะกำหนดวันเลี้ยงเจ้าพ่อสนั่นของเดือนหก คือวันพุธแรกของเดือนหก ชาวบ้านจะกำหนดงานเลี้ยงของเช่นไหว้ก็จะมี ไก่ต้บ 1 ตัว หัวหมู 1 หัว สุราชาว 1 ขวดใหญ่ ขนมหวาน ผลไม้ต่าง ๆ ผ้าแดง 1 ผืน ปั่นรูปช้าง ม้า วัว ควาย เป็ด ไก่ ใส่กระจาด ไปเช่นไหว้ด้วย เจ้าของบ้านก็จะใส่ข้าวสุก แกง เนื้อปลา พริก หอมกระเทียมในกระจาด นั้นจะมีรูปคน วัว ควาย ช้าง ม้า บรรจุใส่ลงไปด้วยเวลาเช่นไหว้ผู้ทรงจะมาพูดเอง และ จะฟ้อนรำในบริเวณศาลเจ้าพ่อเอง

    ชาวบ้านก็จะมีการตีฆ้อง กลอง เล่นร่วมกับคนทรงก็ สนุกดี ได้เวลาพอสมควรก็จะนำน้ำมนต์ ขนมต่างๆ กลับบ้าน เพื่อนำน้ำมนต์ไปปัดเป่า ป้องกันอันตรายต่าง ๆ เพื่อเป็นริมงคลแก่เจ้าของบ้านเอง ส่วนมากจะเลี้ยงในเวลาเช้า ก่อนเพล เป็นเสร็จพิธีในวันนั้น ตามปกติวันธรรมดาเมื่อทุกคนผ่านไปมาใกล้ศาลเจ้าพ่อก็จะทำความเคารพคาราวะเจ้าพ่อสนั่น

    บางวันที่ตรงกับวันพุทธชาวบ้านที่ได้บนบาลไว้ก็ จะมาเลี้ยงเจ้าพ่อสนั่นในตอนเช้าเพื่อแก้บนในสิ่งที่ตนได้อธิษฐานให้เข้าพ่อช่วยเหลือใน กิจการต่าง ๆ ที่ตนบนไว้เป็นประจำ

    วันทำบุญกลางบ้านของแต่ละกลุ่มบ้าน ชาวบ้านถลุงเหล็ก พอถึงฤดูเดือนหกหลังจากเลี้ยงเจ้าพ่อสนั่นแล้ว ชาวบ้านแต่ ละกลุ่มบ้าน ก็จะมีกำหนดวันที่ชาวบ้านจะทำบุญกลางบ้านกันเอง

    การทำบุญกลางบ้านนี้ จะต้องเลี้ยงเจ้าพ่อสนั่นก่อนทุกครั้ง พิธีทำบุญกลางบ้าน กลุ่มบ้านจะต้องจัดปะรำพิธีสถานที่ใดที่หนึ่งในกลุ่มบ้านที่มี บริเวณกว้างขวางพอโดยโยงค้ายสายสิญจน์ ของแต่ละครัวเรือนไปรวมกันที่ปะรำพิธี สวด โคยจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชามีโอ่งน้ำมนต์ ชูป เทียน และมีอายมงคลมีชวย 4 ซวยมี ข้าวสารใส่ในพาคายมงคล ธูป ดอกไม้ เงินซวยละ 1 บาทและมีบาตรใส่น้ำมนต์วางไว้ในคายมงคลนั้น

    พระที่นิมนต์จะสวดในตอนเย็น พิธีกรจะกล่าวไหว้พระรับศีลฟังพระเจริญ พระพุทธมนต์เย็น ชาวบ้านจะต้องจุดเทียนทำน้ำมนต์กัน ส่วนกลางคืนชาวบ้านก็จะมา เล่นสนุกสนานกัน พอรุ่งเช้าก็จะมาทำบุญตักบาตรและถวายภัตตาหารเช้า เสร็จแล้วมีเทศน์มนต์ 1 กัณฑ์ ส่วนตอนเย็นมีเทศน์ปาระมี 30 ทัศน์ 1 กัณฑ์ รวมมีกัณฑ์เทศน์ 2 กัณฑ์ เสร็จแล้วพระก็ให้พรประพรมน้ำมนต์

    ชาวบ้านก็แบ่งปันน้ำมนต์กันนำมา ประพรมบ้านของตนเอง เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว จบพิธีทำบุญกลางบ้าน จุดประสงค์ก็เพื่อให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำ นาจะได้ทำนาได้ผลิตดีสมบูรณ์นั่นเอง

การทอผ้ามัดหมี่


    การทอผ้ามัดหมี่ เกิดจากความต้องการอยากเรียนรู้ของคนในชุมชนหลังจากการว่างงานจากการทำการเกษตร เพื่อที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และชุมชน การทอผ้าเกิดจากการทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือนเมื่อครั้งอดีต เพราะสมัยก่อนไม่มีร้านค้ามากมายและไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายเหมือนกับทุกวันนี้ จึงเป็นที่มาของการทอผ้าไว้ใช้เองในครัวเรือน เช่น การทอผ้าขาวม้า การทอผ้าถุง การทอผ้าห่ม การทอผ้า เป็นต้น การทอผ้าของชุมชนแห่งนี้ เกิดจากความต้องการสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน จึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้ของคนในชุมชน การเรียนรู้มีกระบวนการ ดังนี้ ๑. เรียนรู้เรื่องของวัสดุอุปกรณ์และการใช้สอย ๒. เรียนรู้วิธีการค้นด้วย ๓. เรียนรู้วิธีการมัดออกแบบลวดลาย ๔. เรียนรู้วิธีการย้อมสี ๕. เรียนรู้วิธีการปั่นด้ายเข้าหลอดเพื่อนำไปทอเป็นผืนผ้า ๖. เรียนรู้วิธีการทอเป็นผืนผ้า ๗. เรียนรู้วิธีการกำหนดราคาเพื่อจำหน่าย ๘.เรียนรู้วิธีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ กระบวนการต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ต้องได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าไปมีส่วนส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ในส่วนนี้ กศน.ตำบลโคกเจริญ สังกัด ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอโคกเจริญ ได้ร่วมกับชุมชนเพื่อจัดทำเวทีประชาคม หรือร่วมสำรวจปัญหา ความต้องการของชุมชน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการปฏิบัติงาน นำไปสู่การเรียนรู้ของชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน ต่อไป

ชาวบ้านกลุ่มกลาง กับการทอผ้า เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน เป็นการเรียนรู้ด้วยใจรักและพอใจในสิ่งที่ตนเองทำ ด้วยการทอผ้ามัดหมี่

วิถีชุมชนโคกแสมสาร

 ชื่อเรื่อง วิถีชุมชน ตำบลโคกแสมสาร อำเภอโคกเจริญ จังหวัดลพบุรี


  ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนจะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ปลูกผักสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องซื้ออาหารกิน เป็นการลดรายจ่ายภายในครอบครัว นอกจากนี้ การใช้ชีวิตประจำวันแบบวิถีพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณ ในการหาทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต เช่น การจับน้ำตามท้องไร่ท้องนา การแหย่ไข่มดแดง มาประกอบอาหารเป็นต้น นอกจากนี้ชาวบ้านมักจะนำปลาและกุ้งที่จับมาเอง มาทำปลาร้า ปลาส้ม ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาในการถนอมอาหารอีกอย่างหนึ่ง ผลผลิตส่วนใหญ่จะได้รับตามสภาพและฤดูกาล ในสมัยโบราณชาวบ้านมึกสร้างบ้านเรือนมักรวมกันเป็นกลุ่มๆ ซึ่งต่อมีการแบ่งเขตการปกครองเป็นหมู่บ้าน และตำบล สำหรับคนประกอบอาชีพเพาะปลูกมักตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลอง หรือแหล่งน้ำ เพื่อสะดวกต่อการประกอบอาชีพซึ่งน้ำเป็นปัจจัยหลักในการประกอบอาชีพ การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์เพื่อใช้เป็นพาหนะในการเดินทางติดต่อกันเพื่อการค้าขาย บ้านเรือนปลูกอยู่ใกล้เคียงกันเป็นกลุ่ม มีวิถีชุมชนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถึงเป็นวิถีชนบทที่หายได้ยากในปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคอีสาน ภาษาที่ใช้กันในหมู่บ้านส่วนใหญ่มักใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารกัน ชาวบ้านยึดถือและสืบสาน ประเพณีและวัฒนธรรม ที่ทรวงคุณค่าของชนชาวอีสาน และปฏิบัติตามวัฒนธรรมชาวอีสาน กันในชุมชนก็คือ เดือน 3 ทำบุญวันมาฆะบูชา บุญข้าวจี บุญประทายข้าวเปลือก เดือน 4 บุญพระเวสด์ ฟังเทศมหาชาติ เดือน 5 บุญสงกรานต์ รดน้ำดำหัว ขอพรผู้สูงอายุ เดือน 6 ทำบุญวันวิสาขบูชา บุญข้าวประดับดิน บุญข้าวสาร์ท บุญสลากพัตร์ (สาร์ทลาว) บุญเบิกบ้าน บุญบั้งไฟ ในทุกเดือนพฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านจะร่วมประเพณีบุญบั้งไฟ เพื่อเป็นการรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีของคนตำบลโคกแสมสาร อีกทั้งมีการปลูกฝั่งให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ให้มีความสามัคคี ตระหนัก ถึงชาติพันธุ์ รากเหง้าของตนเอง นอกจากจะมีการสืบสาน ขนบธรรมเนียมประเพณีของชนชาวอีสานที่เรียกกันว่า “ฮีตสิบ สองคองสิบสี่”แล้ว ชุมชนในตำบลโคกแสมสารยังสืบทอด การประกอบอาชีพที่มีต้นกำเนิดมาการชนชาวอีสานอีกด้วย เช่น การทอผ้ามัดหมี่ การทอเสื่อกก และการจักสานจากไม้ไผ่ไว้ใช้ในครัวเรือน ถือได้ว่าเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสานให้ยังยืนสืบไป

ประเพณีเลี้ยงเจ้าปู่

 ประเพณีเลี้ยงเจ้าปู่





  
ประเพณีเลี้ยงเจ้าปู่ เป็นประเพณีที่ชาวตำบลไผ่ใหญ่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ส่งต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน จะทำกันทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีการทำบุญต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านน้ำจั้นเคารพนับถือ ในช่วง ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเป็นประเพณีที่ทุกบ้านจะออกมาร่วมกันถวายอาหารคาวหวานที่ศาลกลางบ้าน มีการเลี้ยงไก่ต้ม หมูต้ม ขนมบัวลอย ขนมต้ม ดอกไม้ธูปเทียน เหล้าต้มน้ำขาว และมีการละเล่นกลองยาว เพื่อเป็นการกราบไหว้สักการะบูชาประจำกันทุกๆปี

ผลิตภัณฑ์งานจักสานบ้านน้ำจั้น

 

ผลิตภัณฑ์งานจักสานบ้านน้ำจั้น






การศึกษาเพื่อพัฒนาการงานและอาชีพให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเพื่อ พัฒนางานระดับพื้นฐาน ระดับกึ่งฝีมือ และระดับฝีมือที่สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของ กลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือเพิ่มพูนรายได้ ทั้งนี้ ให้มีการพัฒนาหลักสูตรและวิธีการที่หลากหลายและทันสมัย สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง และ จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตให้แก่ทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดกิจกรรมการศึกษามุ่งเน้นให้ทุก กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความสามารถในการจัดการชีวิตของตนเองให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

กระบวนการผลิต การทำตะกร้าหวายเทียม เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการจักสานมาปรับประยุกต์ใช้ วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นวัสดุธรรมชาติ ทำมาจากหวาย ไม้ แผ่นไม้ นำมาสานเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ของตะกร้า รูปทรงและขนาดมีความแตกต่างตามความเหมาะสมของการใช้งาน เช่น ใช้ใส่ของไปวัดทำบุญ ใช้ถือออกงาน ฯลฯ ทำให้เกิดการพัฒนาลวดลายตามยุคสมัย ความนิยม มีการตั้งชื่อลวดลายต่าง ๆ เพื่อให้เรียกชื่อได้ตรงกัน และน่าสนใจมากขึ้น ระยะเวลาในการผลิตประมาณ

การสานตะกร้าหวายเทียม เป็นการผลิตแบบบุคคล ทำมาจากหวาย หวายเส้น ไม้ ทำให้มีความแข็งแรง คงทน สามารถใช้งานได้นาน มีลวดลายและสีสันสวยงาม ใช้ระยะเวลาในการสานโดยประมาณ4 – 5 วันต่อ 1 ใบ ขึ้นอยู่กับขนาดและลวดลาย โดยตะกร้าหวายเทียมนี้เป็นการเรียนรู้เริ่มต้นจากกลุ่มอาชีพ ในโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน ที่เปิดให้ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้ ฝึกอาชีพ และนำความรู้ที่ได้รับ ด้านวิธีการ ขั้นตอนการสานตะกร้าหวาย ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นำไปประกอบอาชีพ ทำให้มีรายได้เสริมกับครอบครัวตนเอง

กระบวนการผลิต ใช้วิธีการสานมือ โดยเริ่มจากการนำแผ่นไม้ที่มีรูปร่างและขนาดเท่ากับแบบตอกด้วยตะปู ยึดติดกับแบบเพื่อขึ้นดิ้ว(ตอกตั้ง) โดยรอบตามแบบตะกร้า จากนั้นนำเส้นหวายเทียมมาสานตามลวดลายที่ต้องการจนเต็มใบตะกร้า ใส่ขอบและงวงตะกร้า ใช้เส้นหวายพันรอบงวงตะกร้าและขั้นตอนสุดท้ายคือการทาน้ำมันเคลือบเงา ทาซ้ำ 2 รอบ เพื่อให้ตะกร้าอยู่ทรง ป้องกันเชื้อรา รักษาเนื้อไม้และทำให้หวายมีความแข็งแรงทนทาน รอจนน้ำมันเคลือบเงาแห้ง จึงถอดออกจากแบบได้ จากกระบวนการผลิตจะเห็นได้ว่าการสานตะกร้าหวายเทียมมีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

รูปแบบบรรจุภัณฑ์ของตะกร้าหวาย บรรจุด้วยถุงพลาสติกใส ที่มีขนาดแตกต่างกัน ตามรูปทรงและขนาดของตะกร้า ตามคำสั่งซื้อของลูกค้า

การออกแบบผลิตภัณฑ์ การสานตะกร้าหวายเทียม มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีแบบที่หลากหลาย โดยการพัฒนาลวดลายและรูปทรงของตะกร้าให้มีความสวยงาม มีรูปทรง ลวดลายที่หลากหลายตามยุคสมัยและความนิยม เพื่อให้เกิดความน่าสนใจต่อกลุ่มลูกค้า

การเพิ่มขึ้นของรายได้ ครั้งที่เริ่มต้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์เริ่มจากจำหน่ายในชุมชน จากการบอกต่อของคนรู้จัก คนในชุมชน ผลิตตามคำสั่งซื้อ จนเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทำให้มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นโดยประมาณ 25% – 30% ด้านระบบบัญชี มีการบันทึกบัญชีอย่างง่าย มีการบันทึกรายจ่ายค่าวัสดุ (ต้นทุน) และรายรับลงสมุด เพื่อให้ผู้ผลิตทราบรายละเอียดต่าง ๆ ของค่าใช้จ่ายหรือกำไรที่ได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์