แห่เทียนพรรษา
ประเพณีเนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "แห่เทียนพรรษา" ของชุมชน
การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็น พุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใดแต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณนาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษา การถวายเทียนพรรษาโดยตกแต่งหรือแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆนั้น มีมาแต่โบราณ เดิมเป็นประเพณีราชสำนักดังที่ปรากฏในเทียนรุ่งเทียนหลวงตามพระอารามต่างๆ ในอดีตการหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสือแล้ว พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น
งานแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธที่ได้กระทำมาแต่ครั้งพุทธกาล เหตุที่ทำให้เกิดประเพณีเพราะสมัยก่อน มีภิกษุได้เดินไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านทำให้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาตให้ภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน คือในช่วงวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 10 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านพอดีในช่วงเข้าพรรษานี้ประชาชนจะนำเทียนไปถวายพระภิกษุเพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเฉลียวฉลาดมีไหวพริบปฏิภาณประดุจขี้ผึ้งที่ใช้ทำเทียนที่จากรังผึ้ง สำหรับการแห่เทียนพรรษาของชุมชนตำบลชัยนารายณ์นั้น ถือว่าเป็นประเพณีทางศาสนา ซึ่งมีความเจริญในพุทธศาสนาวัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการแสดงออกถึงการยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคีของคนในชุมชน งานแห่เทียนพรรษาเป็นงานที่ทำให้ชุมชน วัยรุ่น หนุ่มสาว ได้มีโอกาสได้ใกล้ชิดและสัมผัสกับประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม อย่างใกล้ชิด จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวซึ่งคาดหวังได้ว่าประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นจะสืบทอดต่อไปอีกยาวนานนั้น ชุมชนให้ความสำคัญในการ ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีอันดีงานของท้องถิ่น
No comments:
Post a Comment