TKP Start UP

ประวัติหน่วยงาน

ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยพวนทุกแห่งได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า "ประเพณีกำฟ้า" มีความหมายดังนี้

คำว่า "กำ" ในภาษาพวน หมายถึง การนับถือสักการะ

คำว่า "ฟ้า" หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน หรือผู้ที่อยู่สูงเทียมฟ้า คือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจมองเห็นได้

คำว่า "กำฟ้า" หมายถึงการนับถือฟ้า สักการบูชาฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวนโดยเชื่อกันว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากเทวดาผู้รักษาฝากฟ้า แล้วเทวดาจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า เพราะชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวว่าฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือฟ้าจะผ่าคนตาย เพื่อผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ ยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตของคน สัตว์และพืชต่างๆ จึงเกิดเป็นประเพณีกำฟ้าขึ้น แต่เดิมวันกำฟ้าถือกำหนดเอาวันที่มีผู้ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 เป็นวันเริ่มประเพณีกำฟ้า เพราะถือกันว่าเป็นวันที่ฟ้าเปิดประตูน้ำ แต่การยึดถือในวันดังกล่าว มักมีข้อผิดพลาดเกิดการโต้แย้ง กัน เนื่องจากบางคนไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ต่อมาได้กำหนดเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันเตรียมงาน วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า สัตว์เลี้ยงที่เคยใช้งานก็จะให้หยุดการทำงาน ในวันนี้ถ้าใครทำงานชาวไทยพวนเชื่อว่าจะเกิดพิบัติต่างๆ ฟ้าจะลงโทษโดยถูกฟ้าผ่า ห้ามไม่ให้พูดคำหยาบคาย ในช่วงเวลากำฟ้าผู้สูงอายุในครอบครัวจะคอยฟังฟ้าร้อง เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน โดยมีคำทำนาย ดังนี้

เสียงฟ้าร้อง หมายถึง การเปิดประตูน้ำฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะตกดี ทำนาจะได้ข้าวดี ฟ้าร้องทางทิศใต้ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาวบ้านจะอดเกลือ ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย เกิดความแห้งแล้ง ทำนาไม่ค่อยได้ผล นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะเดือดร้อนเกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟันกันฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขไม่มีรบร่าฆ่าฟันกัน ไม่มีโจรผู้ร้าย ในคืนที่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ก่อนที่จะเข้านอน เจ้าของบ้านจะร้องบอกแก่สัตว์เลี้ยงของตนให้รู้ตัวและสงบเสงี่ยมว่า "งัว (วัว) ควายเอ้ย กำฟ้าเน้ออย่าได้อึกทึกครึกโครม แต่บัดนี้ไปจนฮุ่ง (รุ่ง-สว่าง) ตะเง็น (ตะวัน- พระอาทิตย์) จึงม้น (พ้น) เน้อ"



ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน ตามประเพณีนั้นในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 สมาชิกในครัวเรือนจะช่วยกันทำ ข้าวหลาม (ข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ เรียกว่า ข้าวหลามทิพย์) ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นยัดไส้หวาน ไส้เค็ม ชุบไข่ แล้วปิ้งไฟจนแห้งเกรียม) เพื่อนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้า จะมีการสร้างปะรำสำหรับทำพิธีที่วัด ในตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เย็น ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะประกอบพิธีบายศรีอัญเชิญเทพยดา (ผีฟ้า) มารับเครื่องสังเวย และมีการรำขอพร จากนั้นจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟ กล่าวคำ ขอให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน มาปกปักรักษา ในครอบครัวให้อยู่ดีกินดี มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ รุ่งขึ้นวันกำฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า ตอนลางคืนจะมีการละเล่นเซิ้ง ลำพวน ซึ่งถือเป็นกรทรงเจ้าเข้าผีด้วย หลังจากวันกำฟ้า 1 สัปดาห์ จะไปทำบุญที่วัดอีกครั้ง หลังจากนั้นจะนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้นไปทิ้งตามแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปตามสายน้ำ เรียกว่า "การเสียแล้ง" เป็นการบูชารำลึก เทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยาดา (ผีฟ้า) ว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว

No comments:

Post a Comment