TKP Start UP

ประวัติหน่วยงาน

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยพวน

 

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยพวน


    พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียมตั้งอยู่บริเวณวัดโคกกะเทียมโดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ตามแผนพัฒนาจังหวัดลพบุรี โครงการยกระดับพัฒนากิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรีโดยมีวัตถุประสงค์คือ

    1.เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัตถุสิ่งของที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ตามวิถีชีวิตชาวพวน

    2.เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมซึ่งแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านโคกะเทียมแก่เยาวชนประชาชนทั้งในและนอกชุมชนโคกกะเทียม

    3.เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานสภาวัฒนธรรมตำบลโคกกะเทียม

    ลักษณะภายในพิพิธภัณฑ์เป็นการจัดแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวไทยพวนบ้านโคกกะเทียมซึ่งแสดงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ การทำมาหากิน อาชีพ ลักษณะการแต่งกายและเครื่องใช้ต่างๆซึ่งมามาจัดแสดงเช่นในส่วนของ กวงเฮือนหรือห้องนอน ในส่วนของกวงครัวหรือห้องครัวและชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวไทยพวนตำบลโคกกะเทียมนำมาบริจาคทั้งสิ้นที่นำมาแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวไทยพวนลักษณะภายในพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่จัดแสดง ได้แก่ บริเวณกลางอาคารเป็นบริเวณจัดแสดงป้ายนิทรรศการสามารถเคลื่อนที่ได้ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวความเป็นมาของชาวไทยพวน ชาวไทยพวนโคกกะเทียม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งยึดหน่วยจิตใจของชาวบ้าน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อสมศรีที่สร้างแบบศาลเจ้าจีน ภาษา และประเพณีสำคัญ เช่น กำฟ้า สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญแต่งงาน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติแล้ว สำหรับการแต่งกาย เป็นการจัดแสดงด้วยหุ่นสำเร็จรูปใส่ชุดดั้งเดิมทั้งชายและหญิง “การแต่งกายของหญิงพวน จะนุ่งซิ่นและสวมเสื้อคล้ายกับเสื้อสายเดี่ยวที่เรียกว่า ‘เสื้อมะกะแหล่ง’ แตกต่างจากเสื้อคอกระเช้า นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่จากบ้านหมี่ และของโคกกะเทียม แต่ปัจจุบัน ไม่มีคนทอแล้วยกตัวอย่างเครื่องแต่งกาย ผู้หญิงชาวไทยพวน ใส่เสื้ออยู่กับบ้านเป็นเสื้อจีบรอบอกแบบคอกระเช้า เวลาไปวัดจะห่มสไบเฉียง หญิงสาวที่ไม่แต่งงานจะนุ่งผ้าซิ่นทอมัดหมี่มีชายต่อตีนซิ่น ถ้าแต่งงานแล้ว จะนุ่งซิ่นไม่มีชายซิ่น มีเสื้อคอกลมแขนกระบอกใส่เป็นเสื้อนอกเวลาไปงานทำบุญและงานพิธี ผู้ชายชาวไทยพวน จะนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อม่อห้อม ผ้าขาวม้าเคียนเอว สมัยโบราณนุ่งผ้าโจงกระเบน ถ้าไปงานพิธีหรืองานมงคลจะใส่เสื้อสีขาว เวลาไปทำไร่ทำนาจะนุ่งชุดสีดำหรือสีน้ำตาล ที่ย้อมด้วยลูกมะเกลือ จากพื้นที่ส่วนกลาง ทางขวามือเมื่อผู้ชมหันหน้าเข้าสู่บอร์ด เป็นบริเวณที่มีการยกพื้นให้เห็นเป็นครัวไฟจำลอง และจัดแสดงใกล้กับเครื่องมือทำมาหากิน ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับทำนา เครื่องมือในการทำประมง สำหรับครัวไฟจำลองบริเวณนี้เรียกว่า กวงครัว มีการประกอบพิธี “ขึ้นแม่เตาไฟ” ก่อนการตั้งเตาไฟ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้ประกอบพิธี กล่าวถึงเอกลักษณ์อาหารของชาวไทยพวนคือ“หมกหนอไม้และแหนบสาลี” เป็นอาหารที่นำไปสาธิตอยู่บ่อยครั้งในงานมหกรรมชาติพันธุ์” จากพื้นที่ส่วนกลางที่แสดงป้ายนิทรรศการ-เครื่องแต่งกาย และครัวจำลอง มาสู่ส่วนสุดท้ายของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ มุมหนึ่งจัดทำเป็นชานเรือนที่มีการตั้งโต๊ะขนาดเล็กและจัดเชี่ยนหมากไว้ตรงกลาง และห้องหับที่กันไว้เป็นสัดส่วน “ห้องสำคัญนี้สำหรับการอยู่อาศัยของลูกสาวและสถานที่สำหรับเก็บสมบัติสำคัญของตระกูล และเรียกในภาษาพวนว่า “กวงเฮือน” ภายในจะจัดตู้พระธรรมที่มีหนังสือโบราณ โดยไม่มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ส่วนที่นอนปกติแล้วเป็นการนอนกับพื้น แต่ที่นำเสนอนี้เป็นเบาะบาง ๆ ที่มีผ้าปู และมีโต๊ะเครื่องแป้งเป็นคันฉ่องเล็ก ๆ” ในช่วงท้าย มีความพยายามในการพัฒนามัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ และเป็นโอกาสนให้นักเรียนสามารถหารายได้ นอกเหนือจากกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ชุดการแสดงให้เป็นเอกลักษณ์ เช่น รำฟ้อนพวนเชียงขวาง และความพยายามในการฟื้นฟู “หมอลำพวน”เป็นศิลปะวรรณคดีพื้นบ้านที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวพวนแต่บรรพกาลเป็นการขับร้องที่มีแคนเป็นดนตรีประกอบตามท่วงทำนองและลีลาทางภาษาพวน มีท่วงทำนองเพลงคร่ำครวญ ออดอ้อน นุ่มนวล และอ่อนหวาน ร้องโต้ตอบระหว่างชาย - หญิง การลำจะเริ่มขึ้นพร้อมๆกันทั้งคนลำและเสียงแคนคนลำไม่แสดงท่าทางประกอบเพราะทำนองพวนไม่กระชับหรือเร่งเร้าเหมือนหมอลำอีสาน แต่คงมีเฉพาะสมาชิกผู้อาวุโสเท่านั้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมีโอกาสแสดงนาฏศิลป์เหล่านี้ในงานของจังหวัด เช่น งานวังนารายณ์ เป็นต้น



No comments:

Post a Comment