ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม
ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม สืบทอดตามความเชื่อของคนโบราณ เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านบัวชุมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม คงความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ สร้างความปรองดองให้กับชุมชน ชาวบ้านบัวชุมจะก่อเจดีย์ข้าวเปลือกหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อทำบุญตามคติในพระพุทธศาสนาเป็นพุทธบูชา และถือโอกาสทำบุญร่วมกัน เมื่อชาวบ้านทำนาเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวก่อนนำข้าวมาบริโภคหรือจำหน่าย จะมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" ที่เชื่อกันว่าทุกสิ่งมี "ขวัญ" มีความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพ ที่มีพระคุณต่อชีวิตของชาวนาสืบจากปู่ย่าตายายอันยาวนาน ชาวนาชุมชน การนำข้าวแรกเกี่ยวไปถวายพระหรือก่อพระเจดีย์เพื่อเป็นการทำบุญเป็นพุทธบูชาแทน และเป็นการปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็ได้ถือคติปฏิบัติเช่นนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะนำข้าวใหม่มาหุงบริโภคครั้งแรก แต่จะหุงไว้เป็นจำนวนมากกว่าปกติ ทั้งนี้ถือเป็นเคล็ดว่าจะได้เหลือกินเหลือใช้ ไม่อดอยากยากจนอีกต่อไป ในปีต่อไปของการทำไร่ทำนาก็จะได้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้าวใหม่ที่หุงนี้จะนำไปให้ผู้มีอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตลอดจนเผื่อแผ่ถึงลูกหลาน และส่วนหนึ่งนั้น ชาวบ้านก็จะมีการนำข้าวเปลือกมารวมกันที่วัดก่อเป็นเจดีย์ข้าวเปลือก เป็นการทำบุญทางพระพุทธศาสนาโดยตรงของชาวบ้านด้วยการนำข้าวเปลือก มาร่วมบริจาคเพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนา อีกทั้งสร้างนิสัยด้านการบริจาคและสืบทอดประเพณีอันดีงาม
No comments:
Post a Comment