TKP HEADLINE

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยพวน

 

พิพิธภัณฑ์บ้านไทยพวน


    พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านโคกกะเทียมตั้งอยู่บริเวณวัดโคกกะเทียมโดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ตามแผนพัฒนาจังหวัดลพบุรี โครงการยกระดับพัฒนากิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดลพบุรีโดยมีวัตถุประสงค์คือ

    1.เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมข้อมูล ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัตถุสิ่งของที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์ตามวิถีชีวิตชาวพวน

    2.เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมซึ่งแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านโคกะเทียมแก่เยาวชนประชาชนทั้งในและนอกชุมชนโคกกะเทียม

    3.เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักงานสภาวัฒนธรรมตำบลโคกกะเทียม

    ลักษณะภายในพิพิธภัณฑ์เป็นการจัดแสดงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวไทยพวนบ้านโคกกะเทียมซึ่งแสดงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ การทำมาหากิน อาชีพ ลักษณะการแต่งกายและเครื่องใช้ต่างๆซึ่งมามาจัดแสดงเช่นในส่วนของ กวงเฮือนหรือห้องนอน ในส่วนของกวงครัวหรือห้องครัวและชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสิ่งของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวไทยพวนตำบลโคกกะเทียมนำมาบริจาคทั้งสิ้นที่นำมาแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ชาวไทยพวนลักษณะภายในพิพิธภัณฑ์มีพื้นที่จัดแสดง ได้แก่ บริเวณกลางอาคารเป็นบริเวณจัดแสดงป้ายนิทรรศการสามารถเคลื่อนที่ได้ ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวความเป็นมาของชาวไทยพวน ชาวไทยพวนโคกกะเทียม สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งยึดหน่วยจิตใจของชาวบ้าน ได้แก่ ศาลเจ้าพ่อสมศรีที่สร้างแบบศาลเจ้าจีน ภาษา และประเพณีสำคัญ เช่น กำฟ้า สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญแต่งงาน และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งในปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติแล้ว สำหรับการแต่งกาย เป็นการจัดแสดงด้วยหุ่นสำเร็จรูปใส่ชุดดั้งเดิมทั้งชายและหญิง “การแต่งกายของหญิงพวน จะนุ่งซิ่นและสวมเสื้อคล้ายกับเสื้อสายเดี่ยวที่เรียกว่า ‘เสื้อมะกะแหล่ง’ แตกต่างจากเสื้อคอกระเช้า นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่น เช่น ผ้ามัดหมี่จากบ้านหมี่ และของโคกกะเทียม แต่ปัจจุบัน ไม่มีคนทอแล้วยกตัวอย่างเครื่องแต่งกาย ผู้หญิงชาวไทยพวน ใส่เสื้ออยู่กับบ้านเป็นเสื้อจีบรอบอกแบบคอกระเช้า เวลาไปวัดจะห่มสไบเฉียง หญิงสาวที่ไม่แต่งงานจะนุ่งผ้าซิ่นทอมัดหมี่มีชายต่อตีนซิ่น ถ้าแต่งงานแล้ว จะนุ่งซิ่นไม่มีชายซิ่น มีเสื้อคอกลมแขนกระบอกใส่เป็นเสื้อนอกเวลาไปงานทำบุญและงานพิธี ผู้ชายชาวไทยพวน จะนุ่งกางเกงขาก๊วย เสื้อม่อห้อม ผ้าขาวม้าเคียนเอว สมัยโบราณนุ่งผ้าโจงกระเบน ถ้าไปงานพิธีหรืองานมงคลจะใส่เสื้อสีขาว เวลาไปทำไร่ทำนาจะนุ่งชุดสีดำหรือสีน้ำตาล ที่ย้อมด้วยลูกมะเกลือ จากพื้นที่ส่วนกลาง ทางขวามือเมื่อผู้ชมหันหน้าเข้าสู่บอร์ด เป็นบริเวณที่มีการยกพื้นให้เห็นเป็นครัวไฟจำลอง และจัดแสดงใกล้กับเครื่องมือทำมาหากิน ได้แก่ อุปกรณ์สำหรับทำนา เครื่องมือในการทำประมง สำหรับครัวไฟจำลองบริเวณนี้เรียกว่า กวงครัว มีการประกอบพิธี “ขึ้นแม่เตาไฟ” ก่อนการตั้งเตาไฟ ซึ่งผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้ประกอบพิธี กล่าวถึงเอกลักษณ์อาหารของชาวไทยพวนคือ“หมกหนอไม้และแหนบสาลี” เป็นอาหารที่นำไปสาธิตอยู่บ่อยครั้งในงานมหกรรมชาติพันธุ์” จากพื้นที่ส่วนกลางที่แสดงป้ายนิทรรศการ-เครื่องแต่งกาย และครัวจำลอง มาสู่ส่วนสุดท้ายของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ มุมหนึ่งจัดทำเป็นชานเรือนที่มีการตั้งโต๊ะขนาดเล็กและจัดเชี่ยนหมากไว้ตรงกลาง และห้องหับที่กันไว้เป็นสัดส่วน “ห้องสำคัญนี้สำหรับการอยู่อาศัยของลูกสาวและสถานที่สำหรับเก็บสมบัติสำคัญของตระกูล และเรียกในภาษาพวนว่า “กวงเฮือน” ภายในจะจัดตู้พระธรรมที่มีหนังสือโบราณ โดยไม่มีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา ส่วนที่นอนปกติแล้วเป็นการนอนกับพื้น แต่ที่นำเสนอนี้เป็นเบาะบาง ๆ ที่มีผ้าปู และมีโต๊ะเครื่องแป้งเป็นคันฉ่องเล็ก ๆ” ในช่วงท้าย มีความพยายามในการพัฒนามัคคุเทศก์น้อย ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถานศึกษาในพื้นที่ และเป็นโอกาสนให้นักเรียนสามารถหารายได้ นอกเหนือจากกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ชุดการแสดงให้เป็นเอกลักษณ์ เช่น รำฟ้อนพวนเชียงขวาง และความพยายามในการฟื้นฟู “หมอลำพวน”เป็นศิลปะวรรณคดีพื้นบ้านที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของชาวพวนแต่บรรพกาลเป็นการขับร้องที่มีแคนเป็นดนตรีประกอบตามท่วงทำนองและลีลาทางภาษาพวน มีท่วงทำนองเพลงคร่ำครวญ ออดอ้อน นุ่มนวล และอ่อนหวาน ร้องโต้ตอบระหว่างชาย - หญิง การลำจะเริ่มขึ้นพร้อมๆกันทั้งคนลำและเสียงแคนคนลำไม่แสดงท่าทางประกอบเพราะทำนองพวนไม่กระชับหรือเร่งเร้าเหมือนหมอลำอีสาน แต่คงมีเฉพาะสมาชิกผู้อาวุโสเท่านั้นที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งจะมีโอกาสแสดงนาฏศิลป์เหล่านี้ในงานของจังหวัด เช่น งานวังนารายณ์ เป็นต้น



ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า

ประเพณีกำฟ้า เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวไทยพวนทุกแห่งได้ยึดถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่า "ประเพณีกำฟ้า" มีความหมายดังนี้

คำว่า "กำ" ในภาษาพวน หมายถึง การนับถือสักการะ

คำว่า "ฟ้า" หมายถึงเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน หรือผู้ที่อยู่สูงเทียมฟ้า คือเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจมองเห็นได้

คำว่า "กำฟ้า" หมายถึงการนับถือฟ้า สักการบูชาฟ้า เป็นงานบุญพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวไทยพวนโดยเชื่อกันว่า เมื่อได้มีการทำบุญประกอบพิธีกรรมตั้งบายศรีและประกาศขอพรจากเทวดาผู้รักษาฝากฟ้า แล้วเทวดาจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล สาเหตุที่เกิดประเพณีกำฟ้า เพราะชาวไทยพวนมีอาชีพทำนาจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับฟ้า ไม่กล้าทำให้ฟ้าพิโรธ เพราะกลัวว่าฟ้าจะไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือฟ้าจะผ่าคนตาย เพื่อผีฟ้าเทวดามีความพึงพอใจ ยังเป็นการแสดงความขอบคุณผีฟ้าที่ประทานฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล ซึ่งหมายถึงความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ ความมีชีวิตของคน สัตว์และพืชต่างๆ จึงเกิดเป็นประเพณีกำฟ้าขึ้น แต่เดิมวันกำฟ้าถือกำหนดเอาวันที่มีผู้ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 เป็นวันเริ่มประเพณีกำฟ้า เพราะถือกันว่าเป็นวันที่ฟ้าเปิดประตูน้ำ แต่การยึดถือในวันดังกล่าว มักมีข้อผิดพลาดเกิดการโต้แย้ง กัน เนื่องจากบางคนไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ต่อมาได้กำหนดเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันเตรียมงาน วันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า สัตว์เลี้ยงที่เคยใช้งานก็จะให้หยุดการทำงาน ในวันนี้ถ้าใครทำงานชาวไทยพวนเชื่อว่าจะเกิดพิบัติต่างๆ ฟ้าจะลงโทษโดยถูกฟ้าผ่า ห้ามไม่ให้พูดคำหยาบคาย ในช่วงเวลากำฟ้าผู้สูงอายุในครอบครัวจะคอยฟังฟ้าร้อง เพื่อพยากรณ์ความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพในหมู่บ้าน โดยมีคำทำนาย ดังนี้

เสียงฟ้าร้อง หมายถึง การเปิดประตูน้ำฟ้าร้องทางทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำนายว่าฝนจะตกดี ทำนาจะได้ข้าวดี ฟ้าร้องทางทิศใต้ทำนายว่าฝนจะแล้ง ข้าวกล้าในนาจะเสียหาย ชาวบ้านจะอดเกลือ ฟ้าร้องทางทิศตะวันตก ทำนายว่าฝนจะน้อย เกิดความแห้งแล้ง ทำนาไม่ค่อยได้ผล นาในที่ลุ่มดี นาในที่ดอนจะเสียหาย ข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจะเดือดร้อนเกิดเรื่องทะเลาะวิวาท รบราฆ่าฟันกันฟ้าร้องทางทิศตะวันออก ทำนายว่าชาวบ้านจะอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุขไม่มีรบร่าฆ่าฟันกัน ไม่มีโจรผู้ร้าย ในคืนที่ได้ยินเสียงฟ้าร้องครั้งแรกในเดือน 3 ก่อนที่จะเข้านอน เจ้าของบ้านจะร้องบอกแก่สัตว์เลี้ยงของตนให้รู้ตัวและสงบเสงี่ยมว่า "งัว (วัว) ควายเอ้ย กำฟ้าเน้ออย่าได้อึกทึกครึกโครม แต่บัดนี้ไปจนฮุ่ง (รุ่ง-สว่าง) ตะเง็น (ตะวัน- พระอาทิตย์) จึงม้น (พ้น) เน้อ"



ประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน ตามประเพณีนั้นในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 สมาชิกในครัวเรือนจะช่วยกันทำ ข้าวหลาม (ข้าวหลามที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ เรียกว่า ข้าวหลามทิพย์) ข้าวจี่ (ข้าวเหนียวปั้นยัดไส้หวาน ไส้เค็ม ชุบไข่ แล้วปิ้งไฟจนแห้งเกรียม) เพื่อนำไปเซ่นไหว้ผีฟ้า จะมีการสร้างปะรำสำหรับทำพิธีที่วัด ในตอนเย็นจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เย็น ผู้อาวุโสของหมู่บ้านจะประกอบพิธีบายศรีอัญเชิญเทพยดา (ผีฟ้า) มารับเครื่องสังเวย และมีการรำขอพร จากนั้นจะแยกย้ายกันกลับบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะเอาไม้ไปเคาะที่เตาไฟ กล่าวคำ ขอให้ผีฟ้า ผีบ้าน ผีเรือน มาปกปักรักษา ในครอบครัวให้อยู่ดีกินดี มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ รุ่งขึ้นวันกำฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 จะไปทำบุญที่วัดในตอนเช้า ตอนลางคืนจะมีการละเล่นเซิ้ง ลำพวน ซึ่งถือเป็นกรทรงเจ้าเข้าผีด้วย หลังจากวันกำฟ้า 1 สัปดาห์ จะไปทำบุญที่วัดอีกครั้ง หลังจากนั้นจะนำดุ้นฟืนที่ติดไฟ 1 ดุ้นไปทิ้งตามแม่น้ำลำคลองให้ไหลไปตามสายน้ำ เรียกว่า "การเสียแล้ง" เป็นการบูชารำลึก เทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเป็นการบอกกล่าวแก่เทพยาดา (ผีฟ้า) ว่าหมดเขตกำฟ้าแล้ว

วัดเขาสมโภชน์ ชัยบาดาล


วัดเขาสมโภชน์

    วัดเขาสมโภชน์ จัดตั้งเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ 2480 เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและแหล่งเรียนรู้ ทั้งทางด้านศาสนารวมถึงการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยอันดีงาม เป็นแหล่งศูนย์รวมทางจิตใจของชาวพุทธ ให้การปลูกฝังคุณธรรม-จริยธรรม มีธรรมชาติที่หลากหลาย เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ รอบๆ บริเวณร่มรื่นไปด้วยต้นไม้นานาชนิด อีกทั้งยังเป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชหมุนเวียนตามฤดูการ มีแหล่งน้ำ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ท่านเจ้าอาวาสและบุบาสก อุบาสิกาบูรณะปฎิสังขรณ์วัดอยู่เสมอทำให้วัดเขาสมโภชน์ เป็นวัดที่ สวยงาม ร่มรื่น เหมาะแก่การมาปฏิบัติธรรม ตั้งอยู่ที่บ้านเตาขนมจีน หมู่ที่ 5 ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี มีที่ดิน 200 ไร่ บริเวณที่ตั้งมีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน เต็มไปด้วยถ้ำต่างๆ ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมากกว่า 19 ถ้ำ ดังนี้ ถ้ำใหญ่ ถ้ำเจดีย์ ถ้ำเพชร ถ้ำรำวง ถ้ำสิงโต ถ้ำบ่อทิพย์ ฯลฯ ภายในแต่ละถ้ำจะแลเห็นหินงอกหินย้อยที่สวยงาม เมื่อ พ.ศ. 2516 หลวงพ่อคง จตฺตมโล ได้ธุดงค์จาริกมาเพื่อการปฏิบัติธรรมโดยอาศัยอยู่ในถ้ำพระอรหันต์ ตามนิมิต ซึ่งในขณะนั้น ชาวบ้านเรียกกันว่า สำนักสงฆ์ถ้ำเขาสมโภชน์ ต่อมาวันที่ 23 กันยายน พ.ศ 2525 ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศให้เป็นวัดเขาสมโภชน์ โดยมีหลวงพ่อคง จตฺตมโล เป็นพระวิปัสสนาจารย์ และประธานสงฆ์ มีพระครูภาวนาวิสุทธิ (ผิว วณณฺคุตโต) ดำรงค์ตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาส ที่เชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดสำหรับปฏิบัติธรรม ปัจจุบัน มีพระภาวนาสมณคุณ วิ (พระมหาทอง ฐานคุโณ, ป.ธ.9) เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาสมโภชน์ และดำรงตำแหน่ง รองเจ้าคณะจังหวัดลพบุรี

    จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา วัดเขาสมโภชน์ได้จัดตั้งศูนย์พักคอย เพื่อใช้เป็นสถานที่ดูแลรักษาเบื้องต้น ให้กับประชาชนตำบลบัวชุม และพื้นที่ใกล้เคียง

รำโทนบ้านบัวชุม

รำโทนบ้านบัวชุม

การละเล่นรำโทนของบ้านบัวชุม นั้นสืบทอดกันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี จนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมให้มีการละเล่นรำโทนเพื่อให้เป็นศิลปะวัฒนธรรมประจำชาติ จึงนิยมเล่นกันอย่างกว้างขวาง การเรียกชื่อการรำชนิดนี้มาจากเครื่องดนตรีที่ใช้ให้เป็นจังหวะคือโทน นอกจากนี้ยังมีผู้แต่งเพลงขึ้นมาใช้ร้องประกอบการรำโทนแล้วนำมาร้องต่อ ๆ กันไปในท้องถิ่นต่าง ๆ อีกมากมายหลายเพลง คำร้องและทำนองจึงมีความผิดเพี้ยนแตกต่างกันไป จุดเด่นลักษณะของโทน หุ่นของโทนที่ชาวบ้านบัวชุมใช้ทำด้วยดินเผามีรูปร่างคล้ายกับกลองยาวแต่สั้นกว่า ขึงด้วยหนังตัวเงินตัวทองหรือหนังงูเหลือม มีการเอาเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ มาใช้ตีประกอบเป็นจังหวะ เพื่อเพิ่มความครื้นเครง เช่น ฉิ่ง ฉาบ และกรับ ปัจจุบัน นายยวย จันท์เต็มดวง เป็นประธานกลุ่มรำโทนบ้านบัวชุม มีการจัดแสดงตามงานบุญและพิธีต่างๆ เป็นการแสดงหลักที่ไว้คอยต้อนรับผู้มาเยือนตำบลบัวชุม อีกทั้งส่งเสริมการรำโทนเข้าไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม

 ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม

    ประเพณีก่อเจดีย์ข้าวเปลือกบ้านบัวชุม สืบทอดตามความเชื่อของคนโบราณ เป็นประเพณีสำคัญที่ชาวบ้านบัวชุมรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม คงความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ สร้างความปรองดองให้กับชุมชน ชาวบ้านบัวชุมจะก่อเจดีย์ข้าวเปลือกหลังฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อทำบุญตามคติในพระพุทธศาสนาเป็นพุทธบูชา และถือโอกาสทำบุญร่วมกัน เมื่อชาวบ้านทำนาเพาะปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวก่อนนำข้าวมาบริโภคหรือจำหน่าย จะมีการทำพิธี "สู่ขวัญข้าว" ที่เชื่อกันว่าทุกสิ่งมี "ขวัญ" มีความเชื่อเรื่องพระแม่โพสพ ที่มีพระคุณต่อชีวิตของชาวนาสืบจากปู่ย่าตายายอันยาวนาน ชาวนาชุมชน การนำข้าวแรกเกี่ยวไปถวายพระหรือก่อพระเจดีย์เพื่อเป็นการทำบุญเป็นพุทธบูชาแทน และเป็นการปฏิบัติตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็ได้ถือคติปฏิบัติเช่นนี้สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยจะนำข้าวใหม่มาหุงบริโภคครั้งแรก แต่จะหุงไว้เป็นจำนวนมากกว่าปกติ ทั้งนี้ถือเป็นเคล็ดว่าจะได้เหลือกินเหลือใช้ ไม่อดอยากยากจนอีกต่อไป ในปีต่อไปของการทำไร่ทำนาก็จะได้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้าวใหม่ที่หุงนี้จะนำไปให้ผู้มีอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ตลอดจนเผื่อแผ่ถึงลูกหลาน และส่วนหนึ่งนั้น ชาวบ้านก็จะมีการนำข้าวเปลือกมารวมกันที่วัดก่อเป็นเจดีย์ข้าวเปลือก เป็นการทำบุญทางพระพุทธศาสนาโดยตรงของชาวบ้านด้วยการนำข้าวเปลือก มาร่วมบริจาคเพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนา อีกทั้งสร้างนิสัยด้านการบริจาคและสืบทอดประเพณีอันดีงาม



วัดเขายายกะตา

 วัดเขายายกะตา

 ในช่วง ๑ – ๒ ปีมานี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ผู้คนต่างไม่ได้ไปมาหาสู่กันตามปกติ เพราะต้องคอยเฝ้าระวังตนเองและครอบครัวให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด แต่การอยู่บ้านนานๆ ทำให้เราเกิดความเบื่อหน่าย แต่จะเดินทางไปไหนก็เกิดความกังวลใจ หากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆบ้าน หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าในอำเภอชัยบาดาลยังมีที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาตินอกจากสวนรุกขชาติน้ำตกวังก้านเหลืองแล้ว ยังมีอีกสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ “เขายายกะตา”


เขายายกะตา เป็นสถานที่สำคัญของตำบลลำนารายณ์ ซึ่งหากกล่าวในมุมมองของนักท่องเที่ยวจัดว่าเป็นไฮไลต์ (Hi Light) เพราะเป็นยอดเขาที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปชมทิวทัศน์ รับอากาศบริสุทธิ์ และสำหรับชาวลำนารายณ์นั้น เขายายกะตา ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของชุมชน ปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สถานที่แห่งนี้มีสภาพเป็นป่าทึบ มีบ้านเรือนตั้งอยู่สามหลัง และยังไม่มีวัดดังเช่นปัจจุบัน เมื่อมีเทศกาลงานบุญชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้จะต้องเดินทางไปทำบุญที่วัดท่ามะกอกแทน


ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีหลวงพ่อเจริญ กับหลวงพ่อดำรง มาจำวัดอยู่ที่วัดแห่งนี้ คุณป้าแป้น และหมวดป้อม ซึ่งเป็นคนใจบุญ ได้ถวายที่ดินจำนวน ๒๓ ไร่ และบ้านทรงไทยให้แก่วัด และได้ย้ายศาลาการเปรียญมาอยู่ด้านหน้าที่ตั้งอยู่ปัจจุบันนี้ ต่อมากรมศาสนาจึงได้ยกฐานะได้วัดแห่งนี้เป็น “วัดเขายายกะตา” อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ สำหรับเขายายกะตา เป็นยอดเขาสูงมีบันไดทางขึ้นอยู่ในวัดเขายายกะตา เป็นภูเขาที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก บรรดาชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจะนิยมบนบานกับเขายายกตา หรือหากมีคนขึ้นไปบนยอดเขาโดยที่ไม่สอบถามผู้ที่มาอยู่ก่อนและส่งเสียงดังรบกวนก็จะมีก้อนหินกลิ้งลงมา หรือมีอาการชักหมดสติเสมอ

เขายายกะตามียังถ้ำลึกถึงระยะทางยาวเชื่อมต่อไปถึงแม่น้ำป่าสัก โดยมีเรื่องเล่าในอดีตว่า เมื่อครั้งที่ปากถ้ำยังเปิดจะพบสมบัติจำนวนมากมายอยู่ภายในถ้ำ ทั้งเพชรนิลจินดาและของมีค่าอย่างอื่น โดย “ยายตา” ซึ่งเป็นผู้ดูแลถ้ำหรือเจ้าหน้าที่จะเป็นคนใจดีอนุญาตให้ชาวบ้านได้หยิบยืมทรัพย์สมบัติหรือข้าวของเครื่องใช้ไปใช้งานได้ เมื่อใช้งานเสร็จก็นำมาคืนได้ แต่ต่อมาไม่นาน “ยายตา” ก็ได้ปิดปากถ้ำ เพราะความไม่ซื่อสัตย์ของชาวบ้าน โดยเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำของเดือน ชาวบ้านมักจะได้ยินเสียงของปี่พาทย์และแสงไฟพุ่งขึ้นสู่ยอดภูเขา

สำหรับที่มาของชื่อ “เขายายกะตา” นั้น คุณพ่อของคุณตาระยับเล่าว่าเจ้าของภูเขานี้เป็นผู้หญิงชื่อ “ตา” ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “เขายายกะตา” โดยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ยายตาได้ไปเข้าฝันบุคคลสำนักพิมพ์บางกอกโพสต์ขอให้สร้างรูปปั้นยายตาขึ้นที่วัด คุณพ่อของคุณตาระยับจึงได้เสนอความคิดว่าขอให้สร้างรูปปั้นของ “พรานแก้ว” ซึ่งเป็นชายคนสนิทของยายตาด้วย ทางสำนักพิมพ์บางกอกโพสต์จึงสร้างรูปปั้นพรานแก้วและยายตาขึ้นไว้คู่กันบนยอดเขา เมื่อยายตามีพรานแก้วเป็นเพื่อนแล้ว จึงตั้งชื่อเป็น “วัดเขายายกะตา” และ “เขายายกะตา” จนถึงทุกวันนี้

วัดเขายายกะตา ตั้งอยู่หมู่ ๒ ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ติดถนนสุร

นารายณ์ หมายเลข ๒๐๕ เมื่อเข้ามาภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่น มีเจดีย์สีทองซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่นำเข้ามาจากประเทศศรีลังกา และมีรอยพระพุทธบาทให้กราบไหว้

ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์

 ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์


มนุษย์เมื่อมาอยู่รวมกันเป็นสังคมย่อมต้องมีความสัมพันธ์ของกลุ่มที่มีระเบียบแบบแผน ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เครื่องมือที่ควบคุมพฤติกรรมของคนเราเรียกว่าวัฒนธรรมวัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนเครื่องแต่งกายตกแต่งให้ดูน่าชม วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ควบคู่กับคน วัฒนธรรมหมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมการไหว้ วัฒนธรรมยังหมายถึงวิถีชีวิตของหมู่คณะที่แสดงออกทางพฤติกรรม ภาษา และกิจกรรมของสังคม “วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมการกิน”

เดิมตำบลลำนารายณ์เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตการปกครองของตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ประชาชนอพยพมาจากนครราชสีมาและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อมาบุกเบิกทำมาหากิน ต่อมาเมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงได้แยกการปกครองออกจากตำบลบัวชุมมาเป็นตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ตำบลลำนารายณ์มีประชากรที่มีความหลากหลายทางเชื้อสายและวัฒนธรรม เช่น ชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยพุทธ ชาวมุสลิม เป็นต้น จึงมีความหลายทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกัน จึงขอยกตัวอย่างวัฒนธรรมประเพณีที่เด่น ๆ ของตำบลลำนารายณ์ คือประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์

ประวัติศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ บริเวณศาลเจ้ามีสภาพเป็นป่ามีต้นไม้ขึ้นมากมายและเป็นป่าทึบ มีเพียงถนนตัดผ่านไปทางแม่น้ำป่าสัก เป็นถนนเส้นทางเดียวที่ประชาชนในละแวกนี้ใช้สัญจรจากหมู่บ้านไปตลาดลำนารายณ์การสัญจรในเส้นทางในสันนิษฐานว่าได้ตัดผ่านด้านหลังศาลเจ้าผ่านไปออกซอยร้านเจริญการค้าไปตลาดนายเฉื่อย(ตลาดศรีเจริญในปัจจุบัน) จากการเดินทางสัญจรในเส้นทางนี้พบว่ามีต้นตะคองอยู่ด้านหลังศาลเจ้า ซึ่งใต้ต้นตะคองมีไม้ลักษณะคล้ายองค์เทพเทวดา ทำให้ประชาชนที่สัญจรเหล่านั้นมากราบไหว้ขอพรก็เป็นผลสำเร็จ จากแรงศรัทธาและความเลื่อมใส่ต่อองค์เทพเทวดา ทำให้มีการสร้างศาลชั่วคราวที่ทำด้วยไม้และสังกะสี ซึ่งประชาชนขาวตลาดลำนารายณ์ก็ได้นำสิ่งของมากราบไหว้สักการะอย่างต่อเนื่อง และคล้องพวงมาลัยที่ใต้ตะคองเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้มีการประชุมในระดับผู้นำชุมชน ประกอบไปด้วย คุณสีชัง ชูชัยทิพย์ คุณสุพจน์ นามประเสริฐสิทธิ และคุณกัญชัย จึงได้ดำเนินการก่อสร้างศาลขึ้นมาใหม่ และอัญเชิญองค์เทพเทวดาจากศาลชั่วคราวเข้าสู่ประดิษฐาน ณ ศาลเจ้าแห่งใหม่ และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ เดือนแปดของคนจีนได้มีการตั้งชื่อศาลนี้อย่างเป็นทางการว่า “ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์” เพื่อให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจของประชาชนชาวลำนารายณ์ โดยให้มีคณะกรรมการเถ่านั๊งจำนวน ๖ ท่านขึ้นมาดูแล

ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ชาวตลาดลำนารายณ์ได้ดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้งและให้คณะกรรมการเป็นผู้กำกับดูแลและควบคุมกิจการของศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ โดยจัดให้มีการแสดงงิ้ว ปีละ ๒ ครั้ง คือซิ่วโหวง เดือนหนึ่งและเดือนแปดของคนจีน โดยจัดให้มีการแสดงครั้งละ ๖ คืนและให้งานซิ่วโหวงของจีนเป็นการแห่ไหว้เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ไปรอบตลาดเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ท้องถิ่นแห่งนี้ ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้มีการยกร่างกฎระเบียบของศาลเจ้าขึ้นโดยให้มีคณะกรรมการของศาลเจ้าเป็นฝ่ายบริหารศาลเจ้าในแต่ละปีจะมีการแห่องค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ลำนารายณ์ ๒ วัน โดยในวันแรกช่วงกลางคืนจะเป็นการแห่โคมมงคลด้วยระบบแสง สี เสียง และมีการแห่มังกรทอง สิงโต เอ็งกอ ณ บริเวณสี่แยกสัญญาณไฟแดงและวันที่ ๒ จะมีการอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ออกแห่ไปรอบตลาดลำนารายณ์ โดยมีขบวนธงทิว สุภาพสตรีถือแห่ ชุดรำองค์เจ้าแม่กวนอิม ล้อโก๊ว จนถือได้ว่าเป็นงานที่ชาวตลาดลำนารายณ์ได้ร่วมกันจัดขึ้น ด้วยแรงศรัทธาที่มีต่อองค์เจ้าพ่อเจ้าของชาวตลาดลำนารายณ์ทุกคน

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดลพบุรี. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand