TKP HEADLINE

ศิลปะหัตถกรรมหล่อทองเหลือง

 

ศิลปะหัตถกรรมหล่อทองเหลือง

ชื่อเรื่อง ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาจารย์อุทัย เกื้อกระโทก

ชุมชน "ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะหัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านท่ากระยาง ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี"


    อาจารย์อุทัย เกื้อกระโทก เล่าว่า “ผมเป็นคนโคราช อยู่อำเภอโชคชัย ตอนเด็กๆ ทำงานช่วยพ่อแม่ทำไร่ไถนา ด้วยความบังเอิญที่ได้มาทำงานทองเหลือง เพราะที่วัดแถวบ้านมีการหล่อพระประธาน ช่างที่มาหล่อพระมาเจอกับน้องสาวของแม่ เขาก็พบรักกัน แต่งงานกัน ทำให้ผมมีโอกาสไปฝึกกับช่างหล่อพระในกรุงเทพฯ เขาสอนทุกอย่างทั้งปั้น ขัด เทพิมพ์ ผมทำทุกอย่าง ทำซ้ำๆ แต่ละอย่างไปเรื่อยๆ เรียนรู้เป็นปีๆ จนเกิดความชำนาญ ผมทำงานหล่อทองเหลืองมาตลอดจนญาติผมเห็นในความสามารถและฝีมือ ผมสามารถทำได้ทุกอย่างแล้ว ทั้งปั้น และถอดพิมพ์ ญาติผมก็ได้ชวนผมไปทำงานที่หมู่บ้านทองเหลืองลพบุรี ก็คือ "หมู่บ้านท่ากระยาง ลพบุรี" ซึ่งมีโรงหล่อพื้นบ้านที่ดำเนินการหล่อแบบโบราณหรือแบบขี้ผึ้งหายมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ หมู่บ้านท่ากระยางมีชื่อเสียงมากในด้านการหล่อพระในสมัยนั้น เป็นแหล่งผลิตพระที่ส่งพระไปขายตามที่ต่างๆ รวมทั้งตลาดพระในกรุงเทพฯ ผมก็มีความสนใจที่จะเข้ามาทำงานที่หมู่บ้านนี้เพื่อพัฒนาฝีมือของผม พอผมย้ายมาที่ลพบุรี เขาเห็นผมปั้นแล้วถอดพิมพ์ได้ คนโน้นคนนี้เขาจ้างให้ผมทำงาน ทำมา 2-3 ปี ผมมาเจอผู้หญิงที่ผมชอบพอด้วย ก็คือคุณบังอร เกื้อกระโทก ซึ่งมีอาชีพหล่อทองเหลืองเหมือนกันตั้งแต่สมัยพ่อแม่เขา ตาน้อย- ยายฮวย พุ่มขจร สองท่านนี้เป็นบุคคลที่ผมเคารพมาก ท่านถือว่าเป็นผู้บุกเบิกทำให้งานทองเหลืองบ้านท่ากระยางเป็นที่รู้จัก ผมก็เริ่มสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านท่ากระยางและร่วมกันพัฒนาผลงานงานทองเหลือง จนในปี พ.ศ. 2545 ทางภาครัฐได้มีการคัดสรรสินค้า OTOP ผมก็ปั้นนักมวยส่งประกวดในปีแรก ได้รางวัล 5 ดาว จากนั้นก็ทำส่งตลอด ได้ 4 ดาวบ้าง 5 ดาวบ้าง งานทองเหลืองบ้านท่ากระยาง ถือเป็นของดีจังหวัดลพบุรี

สิ่งที่ผมตั้งใจสร้างอยู่ตอนนี้คือ "ศูนย์การเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านท่ากระยาง จังหวัดลพบุรี" เราจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนด้านศิลปหัตถกรรมแนวใหม่ของจังหวัด ผมเคยไปดูงานในจังหวัดอื่นๆ ที่นั่นทำเป็นศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวชุมชน ผมเลยอยากทำขึ้นมาบ้างเพราะศิลปหัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านท่ากระยางมีกรรมวิธีการหล่อแบบโบราณหรือแบบขี้ผึ้งหาย ซึ่งยังคงกรรมวิธีผลิตดั้งเดิมไว้และเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย ให้ผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้ ศึกษาดูงาน เผื่อผู้ที่สนใจสามารถยึดเป็นอาชีพได้ เรายินดีฝึกสอนให้ฟรี แต่ผู้ที่สนใจต้องมีใจรัก เน้นลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำในแต่ละขั้นตอน ฝึกฝนทำให้เกิดความชำนาญแล้วจะทำเป็นเอง พอเขาเก่ง เขาสามารถพัฒนาต่อยอดงานให้ดีกว่าเดิม ตอนนี้ผมกำลังทำศูนย์เรียนรู้ ทำมา 2 ปีแล้ว คิดว่าปลายปีนี้น่าจะเสร็จ และน่าจะเปิดศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการ 9 ธันวาคม 2563 ศูนย์เรียนรู้ศึกษา ดูงานทองเหลืองแทบไม่มีในบ้านเรา ผมอยากทำให้สำเร็จ ผมทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ สร้างมาเพื่อเป็นวิทยาทานให้ผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้ศึกษาดูงาน บนพื้นที่ 8 ไร่ และยังมีการนำเสนอในรูปแบบวีดิทัศน์และห้องแสดงนิทรรศการขนาดเล็ก ตั้งแต่ต้นกระบวนการทำงาน ตั้งแต่ปั้น ถอดพิมพ์ ก่อขี้ผึ้ง เข้าดิน เคียนลวด ลงเตา หลอมทอง เททอง ขัดเกลี่ยแต่งผิวให้สวยงาม ฯลฯ ทำให้เห็นกับตา ลงมือปฏิบัติ ผมยินดีสอนฟรี และแนะนำวัสดุที่ถูกและดีให้ อยากให้ผู้ที่สนใจยึดเป็นอาชีพได้ และเรายังคำนึงถึงความสะดวกของผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน เรามีความพร้อมทางด้านที่พัก ทำโฮมสเตย์ด้วย ล้อมรอบด้วยทุ่งนา บรรยากาศดี เย็นสบาย ท่ามกลางธรรมชาติ ตั้งใจให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้อยู่ถาวรเป็นศูนย์การเรียนรู้ศิลปะหัตถกรรมหล่อทองเหลืองบ้านท่ากระยาง ที่สร้างอาชีพ สร้างโอกาส และสร้างประโยชน์ให้สังคมสืบไป

สำหรับเสน่ห์ของงานทองเหลือง เป็นงานศิลปะที่มีความสวยงามและยั่งยืนถาวร เพราะคนทำเราทำด้วยแรงกาย แรงใจ พอหล่อไปแล้วไม่สูญสลายไปไหน อยู่ชั่วลูกชั่วหลาน

ปัจจุบันนี้ผมมีร้านขายงานทองเหลือง และรับงานหล่อทองเหลืองทุกชนิด ทำทั้งงานชิ้นเล็กๆ จนถึงชิ้นใหญ่ๆ เช่น ของชำร่วย ทำน้ำตก ปั้นลิง ปั้นม้า ปั้นพระ หล่อพระ ปั้นรูปเหมือนอย่างสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ฯลฯ

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดลพบุรี. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand